allaboutFin

มูลค่าเงินตามเวลา time value of money

หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3

โพสเมื่อ : 05 ก.พ. 2564
แก้ไขเมื่อ : 28 ก.พ. 2564
WRITER : ผศ.ดร.ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล CFP®

ในการตัดสินใจทางการเงิน ผู้ที่ทำหน้าที่ในการวางแผนทางการเงินจะต้องมีการนำต้นทุนค่าเสียโอกาส  (opportunity cost) เข้ามาพิจารณาด้วยเสมอ แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา (time value of money) นั้นเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินทุนที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินในเวลาต่างกันจะมีมูลค่าที่ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากเงินที่ได้มาก่อนนั้นสามารถที่จะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนได้ก่อน ทำให้เงินจำนวนเดียวกันในเวลาที่ต่างกันนั้นมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการเปรียบเทียบเงินในเวลาที่ต่างกันจึงไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะต้องมีการเปลี่ยนเงินแต่ละจำนวนที่จะนำมาเปรียบเทียบกันให้เป็นเงินในเวลาเดียวกันก่อน อนุมานได้กับการบวกลบเลขที่มีฐานต่างกันไม่สามารถที่จะบวกลบกันได้โดยตรง จะต้องมีการเปลี่ยนเลขที่มีฐานต่างกันให้เป็นฐานเดียวกันก่อน จึงจะสามารถนำมาบวกลบกันได้

 แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลาจึงเป็นแนวคิดที่ใช้ในการแปลงมูลค่าของเงินที่ได้รับหรือที่ต้องจ่ายไปในเวลาต่างๆกัน ให้เป็นมูลค่าของเงินในเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบมูลค่าเงินในเวลาที่ต่างกัน หรือทำการบวกลบมูลค่าเงินในเวลาที่ต่างกัน สำหรับการตัดสินใจทางการเงินต่างๆ 

เราอาจจะพิจารณาความสำคัญของแนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา จากตัวอย่างในการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ในงานส่งเสริมการขายของรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งซึ่งบริษัทผู้ขายกำหนดราคาขายไว้ 1,000,000 บาท ในกรณีที่ลูกค้าจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดในวันที่ทำการซื้อขาย อย่างไรก็ตามในกรณีที่ลูกค้าไม่ต้องการจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด บริษัทกำหนดให้ลูกค้าจ่ายเงินดาวน์ในวันที่ทำการซื้อขาย 250,000 บาท และชำระเงินค่ารถในส่วนที่เหลืออีก 800,000 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า คำแนะนำในการตัดสินใจว่า 1. ควรจะจ่ายเป็นเงินสด หรือ 2. เลือกจ่ายเงินดาวน์และผ่อนชำระส่วนที่เหลืออีก 1 ปี อาจมีแนวทางในการแยกพิจารณาจำนวนเงินที่ต้องชำระเป็น 2 ส่วนดังนี้

  1. เงินสด 250,000 บาทที่ลูกค้าจะต้องจ่ายเท่ากันในวันที่ทำการซื้อขาย ไม่ว่าจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ในทางเลือกใดก็ตาม
  2. จำนวนเงินที่เหลือที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าเลือกจ่ายเป็นเงินสดหรือจ่ายเงินดาวน์แล้วค่อยชำระส่วนที่เหลือทั้งนี้ลูกค้าที่เลือกจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดจะต้องจ่ายเพิ่มอีกหนึ่งจำนวนในวันที่ทำการซื้อขาย 750,000 บาท แต่ถ้าหากลูกค้าไม่ต้องการจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดจะต้องจ่ายเพิ่มอีกหนึ่งจำนวนในอีก 1 ปีข้างหน้า 800,000 บาท ถ้าหากกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษีเท่ากับ 2.5% ต่อปี ทบต้นปีละครั้ง จะพบว่าลูกค้าที่มีเงินสด 1,000,000 บาท สามารถนำเงินสดที่เหลืออีกหนึ่งจำนวนในวันที่ทำการซื้อขาย 750,000 บาทไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้เมื่อถึงสิ้นปีจะมีเงินออมที่เพิ่มขึ้น 18,750 บาทซึ่งเป็นดอกเบี้ยจากการนำเงินต้น 750,000 บาทไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ ณ สิ้นปีมีเงินออมทั้งสิ้น 768,750 บาท มูลค่าเงินออมรวม ณ สิ้นปี 768,750 บาท ดังกล่าวนี้จะเรียกว่า มูลค่าทบต้น (compound value) หรือมูลค่าอนาคต (future value) ของเงินต้น 750,000 บาท ดังนั้นลูกค้าที่มีเงินออม1,000,000 บาท ซึ่งได้รับอัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษี 2.5% ต่อปี ทบต้นปีละครั้ง ควรที่จะเลือกชำระเงินค่ารถยนต์เป็นเงินสด เนื่องจากมีราคาที่เปรียบเทียบเป็นมูลค่าอนาคตที่ต่ำกว่า หรือพูดง่ายๆก็คือว่าลูกค้าสามารถนำเงินที่เหลือ 750,000 บาทไปลงทุนแล้วได้รับมูลค่าอนาคตต่ำกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระเพิ่มเติม 800,000 บาทนั่นเอง

แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเปรียบเทียบต้นทุนในการซื้อสินค้าหรือบริการ การตัดสินใจระหว่างการซื้อและการเช่าซื้อ แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตัดสินใจในทางเลือกการลงทุนต่างๆ อีกด้วย กล่าวโดยสรุปแล้วแนวคิดดังกล่าวนี้จะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการตัดสินใจต่างๆ ทางการเงินที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดที่จ่ายหรือรับหลายๆ จำนวนในเวลาที่ต่างกัน

 ในการตัดสินใจทางด้านการเงินส่วนบุคคล (personal finance) มีความจำเป็นในการประยุกต์ใช้แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณเงินออมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถทราบว่าบุคคลนั้นๆ จะต้องออมเงินในแต่ละงวดเท่าใดเพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่งที่ต้องการในอนาคต นอกจากนั้นเรายังสามารถนำแนวคิดดังกล่าวนี้ไปประยุกต์ในการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ทั้งในส่วนของการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งถ้าหากการชำระคืนในแต่ละงวด มีจำนวนชำระคืนเท่าๆ กันภายในระยะเวลาที่กำหนด เราจะเรียกการผ่อนชำระคืนเงินกู้นี้ว่า loan amortization ทั้งนี้เงินที่ชำระคืนทั้งหมดทุกงวดรวมกันจะต้องมีมูลค่าปัจจุบันเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกหนี้ได้กู้ยืมมาใช้ในปัจจุบัน  การประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าวยังมีประโยชน์ในการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ในกรณีที่มีทางเลือกในการลงทุนหลายๆ ทางเลือก ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะใช้แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา ในการคำนวณหาอัตราผลตอบแทนจากแต่ละทางเลือกในการลงทุน

 เนื้อหาในบทนี้จะเป็นการอธิบายวิธีการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา ในกรณีต่างๆกันดังนี้

1.กรณีที่มีเงินเพียงจำนวนเดียว

2.กรณีกระแสเงินสดหลายๆ จำนวน

3.กรณีเงินงวด 

4.กรณีเงินงวดตลอดชีพ ตามลำดับ โดยเนื้อหาในบทนี้จะเริ่มต้นด้วยการอธิบายนิยามศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดมูลค่าเงินตามเวลาดังนี้

เงินต้น (principal) หมายถึงจำนวนเงินที่นำมาเป็นฐานในการคิดดอกเบี้ย

เงินงวด (annuity) คือกระแสเงินสด (cash flows) ที่มีเงินหลายๆจำนวน แต่ละจำนวนมีมูลค่าเท่าๆกัน แต่ละจำนวนนั้นมีระยะเวลาห่างเท่าๆกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้นในอัตราเดียวกันทุกๆงวดตลอดระยะเวลาการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสด

เงินงวดปกติ (ordinary annuity) คือเงินงวดที่มีการจ่ายหรือรับเงินสดเกิดขึ้น ณ.วันสิ้นงวด

เงินงวดหนี้ (annuity due) คือเงินงวดที่มีการจ่ายหรือรับเงินสดเกิดขึ้น ณ.วันต้นงวด

เงินงวดตลอดชีพ (perpetuity) หมายถึงเงินงวดที่ไม่มีอายุหรือระยะเวลาสิ้นสุด หรือเงินงวดที่ไม่มีการหยุดชำระจำนวนเงินในแต่ละงวดให้แก่ผู้ได้รับสิทธิในเงินงวดนั้น

ดอกเบี้ย (interest) หมายถึงผลตอบแทนที่ได้รับหรือผลตอบแทนที่ต้องจ่ายจากการใช้เงินทุน

ดอกเบี้ยอย่างง่าย (simple interest) คืออัตราดอกเบี้ยที่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นเท่านั้น

ดอกเบี้ยทบต้น (compound interest) คืออัตราดอกเบี้ยที่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นและดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นเงินต้นในงวดถัดไป

อัตราดอกเบี้ยที่ระบุ (stated interest rate หรือ nominal interest rate) คืออัตราดอกเบี้ยต่อปีที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไปที่ระบุในสัญญาทางการเงินต่างๆซึ่งยังไม่ได้คำนึงถึงจำนวนครั้งในการคิดทบต้นต่อปี

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective interest rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่มีการแปลงระยะเวลาการคิดทบต้นเป็น 1 ปี

อัตราคิดลด หรือ อัตราส่วนลด (discount rate) คืออัตราการลดลงของค่าของเงินในอนาคตเมื่อคำนวณให้เป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นส่วนกลับกับอัตราดอกเบี้ยทบต้น (compounding interest rate)  ในบางครั้งอาจจะเรียกว่า อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ (require rate of return) ค่าของทุน (cost of capital) หรือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost)ก็ได้

มูลค่าอนาคต (future value) หรือมูลค่าทบต้น (compounded value) คือมูลค่าในอนาคตเมื่อครบกำหนดที่เพิ่มขึ้นจากเงินต้นจำนวนหนึ่งที่ลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นในระยะเวลาดังกล่าว

มูลค่าปัจจุบัน (present value) คือมูลค่าของกระแสเงินสดทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบให้เป็นมูลค่าเมื่อเริ่มต้นการลงทุนหรือการกู้ยืม

การคิดทบต้น (compounding) คือกระบวนการหามูลค่าในอนาคตที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในปัจจุบัน

การคิดลด (discounting) คือกระบวนการหามูลค่าที่ลดลงของจำนวนเงินหรือกระแสเงินสดที่กำหนดหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเปรียบเทียบให้เป็นมูลค่าในปัจจุบัน

แกนของเวลา (time line) คือเส้นตรงในแนวนอนที่มีการระบุถึงจำนวนเงินและระยะเวลาที่เกิดขึ้นของจำนวนเงินดังกล่าว

กฎ 72 (rule of 72) ใช้ในการคำนวณระยะเวลาที่เงินต้นจะทวีคูณเป็น 2 เท่า โดยนำ 72 ไปหารด้วยอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3 มูลค่าเงินตามเวลา มีดังนี้

  1. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจนิยามศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา
    1. 1  เงินต้นและดอกเบี้ย (principal and interest): สามารถอธิบายถึงเงินต้น ดอกเบี้ย ความแตกต่างระหว่างการคิดดอกเบี้ยอย่างง่าย (simple interest) และการคิดดอกเบี้ยทบต้น (compound interest) ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ระบุ (stated interest rate) และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective interest rate) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยประเภทต่างๆ
    2. 2  แกนของเวลา (time line): สามารถอธิบายแกนของเวลา (time line) และการนำไปประยุกต์ใช้ในการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา
    3. 3  การคิดทบต้นและการคิดลด (compounding and discounting): สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างการคิดทบต้น (compounding) และการคิดลด(discounting)
    4. 4  มูลค่าอนาคตและมูลค่าปัจจุบัน (future value and present value): สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างมูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value)
  2. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินจำนวนเดียว (conversion of time value of money of a single amount) โดยสามารถอธิบายหลักการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินจำนวนเดียว ทั้งการคำนวณหามูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ
  3. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีกระแสเงินสดหลายจำนวน (conversion of time value of money of a mixed stream of cash flow) โดยสามารถอธิบายหลักการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา กรณีกระแสเงินสดดังกล่าวมีหลายจำนวนในเวลาที่ต่างกัน ทั้งการคำนวณหามูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ
  4. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินงวด (conversion of time value of money of an annuity) โดยสามารถอธิบายถึงเงินงวด (annuity) และความแตกต่างระหว่างเงินงวดปกติ (ordinary annuity) และเงินงวดหนี้ (annuity due) พร้อมทั้งอธิบายการคำนวณหามูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value) ของเงินงวด พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ
  5. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลากรณีเงินงวดตลอดชีพ (conversion of time value of money of perpetuity) โดยสามารถอธิบายถึงเงินงวดตลอดชีพ (perpetuity) และการคำนวณหามูลค่าปัจจุบัน (present value) ของเงินงวดตลอดชีพ (perpetuity) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ

องค์ความรู้ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3 มูลค่าเงินตามเวลา มีดังนี้

  1. นิยาม
  2. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินจำนวนเดียว
  3. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีกระแสเงินสดหลายจำนวน
  4. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินงวด
  5. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินงวดตลอดชีพ
ผลิตภัณฑ์อื่นๆ
  • มาเพิ่ม Skill ใหม่  Level UP+  สร้างทักษะในการวางแผนการเงิน ที่ ThaiPFA ด้วยการพัฒนาความรู้ด้านการเงินอย่างรอบด้าน

    มาเพิ่ม Skill ใหม่ Level UP+ สร้างทักษะในการวางแผนการเงิน ที่ ThaiPFA ด้วยการพัฒนาความรู้ด้านการเงินอย่างรอบด้าน

  • วางแผนการเงินและปฎิบัติธรรมพร้อมๆกัน? รวยและสุข | ESG เทรนด์ใหม่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องธรรมะ

    วางแผนการเงินและปฎิบัติธรรมพร้อมๆกัน? รวยและสุข | ESG เทรนด์ใหม่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องธรรมะ

  • Financial Health Check สำรวจความมั่นคงของสินทรัพย์กับโรงพยาบาลการเงิน

    Financial Health Check สำรวจความมั่นคงของสินทรัพย์กับโรงพยาบาลการเงิน